top of page
ค้นหา
supattra24051988

กรมการแพทย์ จับตาโควิด 19 ช่วงขาขึ้น สายพันธุ์ใหม่ BA.4-BA.5 ยอดติดเชื้อพุ่งเท่าตัว

กรมการแพทย์ จับตาการระบาดโควิด 19 สายพันธุ์ BA.4-BA.5 พบตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น พุ่งต่อเนื่องเกือบ 1 เดือน

ภาพจาก ben bryant / Shutterstock.com


วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เกือบทุกแห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิดสิน และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี มีจำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เชื่อว่าสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีอัตราการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แต่ความรุนแรงยังไม่แน่ชัด ประเมินว่าช่วงนี้คือช่วงการระบาดขาขึ้น และจะต่อเนื่องไปอีก 3-4 สัปดาห์ สังเกตได้จากคนใกล้ตัวที่พบมีการติดเชื้อกันมากขึ้น แนวทางการรักษาผู้ป่วย Covid-19 ยังให้การรักษาตามสิทธิ์ ให้ผู้ป่วยทุกรายเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาลตามสิทธิ์ของตนเอง เบื้องต้นยังสามารถรับมือได้โดยมีการวางแผนรับมือมาแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อน กำชับให้ในพื้นที่เขตโรงพยาบาลทุกแห่งต้องสวมแมสก์ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ถ้าฉีดมาแล้วเกิน 3-4 เดือน ต้องไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม รวมทั้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกรมการแพทย์ เปิดคลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือ ARI คลินิก รองรับผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มรูปแบบ


ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า สถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ มีผู้ป่วยโควิด ที่มารับการรักษาที่ ARI คลินิก เพิ่มขึ้นจากวันละ 50-100 คน เป็นวันละ 200-250 คน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักในกลุ่มสีเหลือง ส้ม และแดง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ และขยายเตียงไอซียูโควิดเพิ่มเป็น 75 เตียง จากก่อนหน้านี้ที่ลดเหลือ 60 เตียง ในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้น โดยตอนนี้มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 70-80% ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังเข้ารับการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย

มอเผยเคสผู้ป่วยหญิงวัย 52 ติดโควิดถึง 3 ครั้ง ขณะที่ ข่าวช่อง 3 รายงานว่า นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยเคสของหญิงวัย 52 ปี ได้วัคซีนครบโดสและเข็มกระตุ้นแล้ว แต่โควิดถึง 3 ครั้ง โดยติดครั้งที่ 1 เดือนเมษายน 2564 คาดว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ติดเชื้อครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม 2565 คาดว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 และติดเชื้อครั้งที่ 3 ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 คาดว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 เบื้องต้นผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ช่วยพยาบาลทำงานที่ห้องฉุกเฉิน ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิดตลอดเวลา และเนื่องจากกินยาสเตียรอยด์ ภูมิคุ้มกันไม่ดีเหมือนคนทั่วไป ทำให้ติดเชื้อแล้วติดเชื้ออีกถึง 3 ครั้ง แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสและเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม หลังจากหายครั้งนี้ ต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA อีก 1 เข็ม

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page