ยอดคนป่วย โควิด 19 วันนี้ (21 พ.ค. 63) เพิ่มขึ้น 3 คน มีประวัติเข้าร้านตัดผม - สัมผัสผู้ต้องสงสัยว่ามีอาการป่วย ก่อนเดินห้าง หลังผ่อนปรนระยะที่ 2 เบื้องต้นยังไม่เปิดไทม์ไลน์ ขอเช็ก ระบบ ไทยชนะ.com และสอบสวนโรคก่อน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล การผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย เริ่มดำเนินการมาสักพักแล้ว ซึ่งการผ่อนปรนระยะนี้ อนุโลมให้เปิดห้างและสถานบริการบางประเภทได้ แต่ต้องปฏิบัติตามการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งก็พบว่านับจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแค่หลักหน่วยเท่านั้น
ล่าสุด วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด 19 (ศบค.) ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยพบว่า ในวันนี้ มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 3 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 2 คน มีประวัติเสี่ยงจากการเดินทางไป หรือทำงานในสถานที่ชุมชน ส่วนอีก 1 คน เพิ่งกลับจากต่างประเทศ มีรายละเอียด ดังนี้
ภาพจาก รัฐบาลไทย
-รายที่ 1ชายไทยอายุ 72 ปีมีโรคประจำตัว เบาหวาน มะเร็งปอด รักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อ 4 วันก่อน และมีประวัติไปตัดผมร้านแถวประชาชื่น ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ จึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และย้ายมาโรงพยาบาลรัฐเดิมที่รักษาตัวอยู่ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563
-รายที่ 2 ชายอายุ 42 ปีสัญชาติเยอรมัน ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการ มีประวัติเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ จ.ชัยภูมิ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน - 16 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 มีญาติ 1 คน มีอาการไข้ คอแห้ง และไม่ได้ตรวจรักษา ต่อมาชายวัย 42 ปี รายดังกล่าว ได้เดินทางไปห้างสรรพสินค้าในชัยภูมิ หลังจากกลับมาได้ไปตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ตรวจพบเชื้อและเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.
- รายที่ 3 เป็นหญิงไทยอายุ 25 ปีไปเรียนภาษาและกลับจากประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เข้าพักที่ State Quarantine ตรวจพบเชื้อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ไม่มีอาการ
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @js100radio
ต่อมา นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยทั้ง 3 คนว่า การสอบสวนโรคต้องอาศัยเวลา เบื้องต้นเมื่อผลตรวจออกมาแล้ว ทางทีมสอบสวนโรคก็จะคุยก่อนว่าผู้ป่วยสามารถคุยได้หรือไม่ เพื่อเป็นการสอบประวัติเบื้องต้น
พอทราบไทม์ไลน์ ทั้งการไปหาหมอที่โรงพยาบาล หรือการไปร้านตัดผม ส่วนจะมีมากกว่านี้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความจำของผู้ป่วยอายุ 72 ปี ว่าเขาไปโรงพยาบาลอะไร ร้านตัดผมอะไร และห้วงเวลาไหน ซึ่งเวลานั้นมีการสัมผัสใกล้ชิดกับใครบ้าง ใครสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ เสี่ยงสูง ก็จะได้วิเคราะห์ออกมา จริง ๆ ร้านตัดผมต้องไม่มีคนอื่น เพราะเราไม่ได้ให้มานั่งรอที่ร้านตัดผม ต้องดูทั้งหมด ทั้งผู้สัมผัสร่วมบ้านด้วย ต้องดูคนใกล้ชิดที่สุด ทั้งครอบครัว บุตรหลาน ต้องติดตามและเก็บตัวอย่างตรวจว่ายังมีใครบ้างที่มีโอกาสรับเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19
ทั้งนี้ หากโรงพยาบาล หรือร้านตัดผม มีการลงระบบ www.ไทยชนะ.com มีการเช็กอิน เช็กเอาต์ ก็จะติดตามสอบสวนโรคได้ และระบุได้ว่ามีใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้วงเวลานั้น จากนั้นก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรวจ
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 (ศบค.)
Comments