top of page
ค้นหา
  • supattra24051988

โควิดพุ่ง สายด่วน 1330 รับไม่ไหว - รพ. ปฏิเสธรักษา เส้นด้าย แนะกระจายศูนย์ช่วยเหลือ

วิกฤตโควิดยอดพุ่ง ประชาชนร้อง สายด่วน 1330 ติดต่อยาก แถมเจอโรงพยาบาลปฏิเสธการตรวจ ถึงมีผล ATK ไปก็ไม่ตรวจให้ หันไปพึ่งมูลนิธิเส้นด้าย รับสายแทบไม่ทัน แนะ กระจายศูนย์ช่วยเหลืออย่ากระจุกแค่ที่เดียว

ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


จากกรณีตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจนเกิน 2 หมื่นคนภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้ตอนนี้สายด่วน 1330 ของ สปสช. ที่ไว้รับลงทะเบียนผู้ป่วย เริ่มมีเสียงสะท้อนจากประชาชนกลับมาอีกครั้ง ว่าติดต่อยากมาก หรือบางรายต้องรอการติดต่อกลับนานกว่า 2 วัน


ล่าสุด (26 กุมภาพันธ์ 2565) ข่าว 3 มิติ รายงานว่า จากการได้ลองติดต่อหมายเลขสายด่วน 1330 เพื่อทดสอบศักยภาพการให้บริการของเลขหมายนี้ พบว่าใช้เวลารอสายนาน 18 นาที 24 วินาที จึงมีเจ้าหน้าที่รับสาย


เมื่อสอบถามการให้บริการจากเจ้าหน้าที่ จึงทราบว่าขณะที่ทีมงานติดต่อ มีผู้รอสายอีก 150 คิว เฉลี่ยเจ้าหน้าที่รับสายคนละไม่ต่ำกว่า 100 สายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการพูดคุยในแต่ละสายจะใช้เวลาเฉลี่ยแล้ว 10-15 นาทีต่อคน


ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


แม้ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จะเพิ่มคู่สายรวมกันแล้ว 450 คู่สาย แต่จำนวนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องผลัดเปลี่ยนกะ ทำให้มีผู้รับสาย 150-200 คนต่อกะเท่านั้น


อย่างไรก็ตามหากลงทะเบียนเสร็จสิ้น ขั้นตอนต่อไปคือการจับคู่ผู้ป่วยกับสถานพยาบาล จะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ทันทีที่มีแพทย์ติดต่อกลับหา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน Home Isolation ซึ่งจะมีชุดอุปกรณ์และยารักษาโรค ตามกลุ่มระดับความรุนแรงของอาการ จัดส่งให้ตามที่อยู่ภายใน 48 ชั่วโมง


ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


มูลนิธิเส้นด้าย ยอมรับ สายแทบไหม้ คนที่ติดต่อมาเกือบทั้งหมด มาจากติดต่อสายด่วน 1330 และ 1669 ไม่ได้


รายงานระบุว่า จากการเฝ้าสังเกตการณ์การทำงานของมูลนิธิเส้นด้าย ที่ทำหน้าที่ประสานการรักษาให้ผู้ป่วยโควิดก็มีสายโทร. เข้าแทบชนิดนาทีต่อนาที ตลอดช่วง 30 นาที รวมทั้งวันแล้วกว่า 800 สาย


ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


โดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเส้นด้าย ยอมรับว่า ผู้ที่ติดต่อเข้ามาเกือบทั้งหมดมาจากติดต่อสายด่วน 1330 และ 1669 ไม่ได้ จึงหันมาพึ่งพามูลนิธิ แม้บางรายจะติดต่อได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้ารับการรักษา เนื่องจากปัญหาเรื่องสิทธิและเตียงเต็ม


"หลัก ๆ เลยคือไม่รับตรวจ ไม่รับรักษา ปฏิเสธการรักษา คนส่วนมากจะสิทธิ์ประกันสังคมกับสิทธิ์บัตรทอง พอสิทธิ์บัตรทองอยู่ต่างจังหวัด ไปโรงพยาบาลรัฐ เขาก็ปฏิเสธการตรวจ ถึงมีผล ATK ไปก็ไม่ตรวจให้ ส่วนสิทธิ์ประกันสังคมก็เหมือนกัน ไปโรงพยาบาลตามประกันสังคม ตรวจให้ไม่ได้ เขาปฏิเสธการตรวจ บอกว่าไม่ตรวจเต็มแล้ว"


ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


เมื่อผู้ป่วยหันมาพึ่งพาหน่วยงานรอง เท่ากับกว่าระบบหลักรองรับไม่ไหวแล้ว


จากการพิจารณาข้อมูลศักยภาพสายด่วน 1330 จะพบว่า ผู้ป่วย 1 คน รับบริการเฉลี่ย 8 นาที หากคำนวณผู้ติดเชื้อทั้ง RT-PCR และ ATK ที่รวมกัน 40,000 คน ต่อวัน เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ 1 คน จะต้องรับสาย 100 คนต่อวัน


คริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิเส้นด้าย มองว่า เมื่อผู้ป่วยหันมาพึ่งพาหน่วยงานรอง เท่ากับกว่าระบบหลักไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ จึงเห็นว่าควรจัดหาเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ เพิ่ม จัดยาและความช่วยเหลือส่งถึงมือผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง และเปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำ Home Isolation ได้


สิ่งสำคัญคือการแจ้งให้ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนจับคู่แล้ว ทราบช่องทางการติดต่อกับสถานพยาบาล โดยไม่จำเป็นต้องโทร. กลับ 1330 ซ้ำ เพื่อลดความหนาแน่นของคู่สาย


ภาพจาก ข่าว 3 มิติ


"เชื่อว่ายอดผู้ป่วยโควิดหลังจากนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะยังไม่จบ ดังนั้นการที่ให้ศูนย์เดียวรับโทรศัพท์ อาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกทางนัก ถ้าสามารถให้ประชาชนโทร. หาศูนย์บริการสาธารณสุขประจำเขต ซึ่งใน กทม. มีอยู่ 60-70 แห่ง ให้เบอร์ตรงเขาไปเลย โทรศัพท์เข้าไปลงทะเบียนตรงนั้นเลย แล้วให้ตรงนั้นเป็นคนจัดการ


ถ้าจะลดขั้นตอนต้องไม่ให้มีการโทรศัพท์แล้วรอความช่วยเหลือ ต้องให้วอล์กอินเข้าไปรับยาได้เลย หรือวอล์กอินเข้าไป RT-PCR ได้เลย แล้วก็ให้เขาเดินมาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขประจำเขตเลย จะช่วยได้เยอะ จะลดโหลดงานได้มาก โดยไม่จำเป็นต้องนั่งโทร. หาเบอร์เดียวแล้วรอหน่วยงานเดียวในการช่วยเหลือ โอกาสมันต่ำในการที่จะจัดการได้" ประธานมูลนิธิเส้นด้าย กล่าว


อย่างไรก็ตาม รายงานระบุล่าสุด สปสช. ได้นำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเข้าเสริมการทำงานของคอลเซ็นเตอร์เพิ่มเป็นเกือบ 500 คนแล้ว และในวันที่ 4 มีนาคม นี้ จะเพิ่มเป็น 600 คนเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น


ขณะเดียวกันก็สามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ด้วยตัวเองทางเว็บไซต์ สปสช. หรือไลน์ @nhso

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page