top of page
ค้นหา
  • supattra24051988

รู้จัก 'ซีเซียม-137' สารกัมมันตรังสี ใช้ทำอะไร-อันตรายแค่ไหน ทำไมต้องตามหาวุ่น


ชวนรู้จัก ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสี สุดอันตรายที่หายออกจากโรงไฟฟ้า ใช้ทำอะไร-คร่าชีวิตคนได้จริงหรือ ทำไมต้องตามหากันวุ่น

เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ สำหรับกรณีท่อบรรจุสาร “ซีเซียม-137” หรือ “Cs-137” หายเป็นปริศนาจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี โดยเกรงว่าหากมีผู้สัมผัสอาจเกิดอันตรายได้ พร้อมตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 กลับคืนมาได้ วันนี้ทีมข่าวสดขอพาทุกคนมาทำความรู้จักซีเซียม-137กัน


ซีเซียม-137 (Caesium-137) คืออะไร

ซีเซียม-137 คือ สารไอโซโทปของซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี จาก 300 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส นอกจากนี้ซีเซียม-137 ยังเป็นสารก่อมะเร็ง

ประโยชน์ของซีเซียม-137

ซีเซียม-137 มีประโยชน์อย่างมากในด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความแรงรังสีสูง มีเครื่องมือมากมายที่ใช้ซีเซียม-137 อาทิ

-เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

-เครื่องวัดระดับ เพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อและแทงก์

-เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ

-เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้บำบัดมะเร็ง ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา

ซีเซียม-137 เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

ซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมมาจากต้นกำเนิดหลายชนิด แต่ที่ใหญ่ที่สุดและมาจากต้นกำเนิดเดียวคือ ฝุ่นกัมมันตรังสี (Fallout) จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศ ในช่วงปีพ.ศ. 2490 และ 2500 ทำให้มีการกระจายและการสะสมของซีเซียม-137ไปทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามซีเซียม-137จำนวนดังกล่าวได้สลายตัวไปมากกว่า 1 ครึ่งชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ กากและอุบัติเหตุจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถปล่อยซีเซียม-137 ได้เช่นกัน เช่น อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง

สำหรับประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ซีเซียม-137หาย ย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 มีคนเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่าไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งแท่งนี้ถูกนำมาแยกชิ้นส่วนจนทำให้กัมมันตรังสีข้างในแผ่ออกมา มีผู้บาดเจ็บรุนแรงถึง 12 คน


เชอร์โนบิล ภาพจาก REUTERS/Gleb Garanich

ซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายคนเราได้อย่างไร

เราอาจได้รับซีเซียม-137 จากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือสูดดมฝุ่น ถ้าซีเซียม-137เข้าสู่ร่างกายจะกระจายตัวไปทั่วร่างกาย เมื่อเทียบเวลาตกค้างของซีเซียม-137 กับสารกัมมันตรังสีตัวอื่น ซีเซียม-137 มีเวลาสั้นมากและจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ

หากได้รับซีเซียม-137 ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งเป็นสารให้สีน้ำเงินและไม่เป็นพิษ มีการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์คือ เป็นยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม และใช้ย้อมสีเนื้อเยื่อเพื่อดูการสะสมของธาตุเหล็ก

สีปรัสเซียนบลู (Prussian blue) และแคปซูลบรรจ Prussian blue ชื่อ RADIOGARDASE


ความเสี่ยงต่อสุขภาพ หากได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย

เพิ่มอัตราการเสี่ยงเป็นมะเร็ง ปกติเราจะได้รับรังสีซีเซียม-137 ในปริมาณที่น้อยมาก แต่หากได้รับรังสีจากกากกัมมันตรังสีในบริเวณที่เปรอะเปื้อน หรือจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งสูง

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย บางส่วนจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ บางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมาก หรือเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม

หากสัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีโดยตรง ผู้สัมผัสจะเกิดผื่นแดง หรือเป็นแผลไหม้บริเวณที่สัมผัสวัสดุ หากได้รับในปริมาณรังสีสูงมาก ๆ จะทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนังอย่างรุนแรง อาจส่งผลถึงชีวิตได้

สำหรับกรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงงานจ.ปราจีนบุรี เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก วัสดุกัมมันตรังสีจะอยู่ในชั้นในสุด หากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

แต่หากมีการถอดประกอบ หรือชำแหละเครื่องกำบัง จนทำให้วัสดุกัมมันตรังสีมีลักษณะเปลือยเปล่า จะมีรัศมีการแผ่รังสีออกจากวัสดุกัมมันตรังสีประมาณไม่เกิน 1-2 เมตร และหากมีการผ่าท่อรังสี จะทำให้ผิวหนังของผู้ที่สัมผัสเนื้อเน่าเปื่อยภายใน 3 วัน


ท่อบรรจุสารซีเซียม-137ที่หายไป


ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page