พอล ภัทรพล วิเคราะห์โลกหลังผ่านวิกฤต COVID-19 ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร เผย 5 ข้อ ความปกติรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น มีทั้งส่งผลดีและผลเสีย โลกจะเป็นอย่างไรบ้าง ดูเลย !
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก จนหลายคนสงสัยและแทบนึกภาพกันไม่ออกว่าหลังจากจบวิกฤตโควิด 19แล้วนั้น โลกของเราจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ล่าสุด (5 พฤษภาคม 2563) อดีตพระเอกหนุ่มชื่อดัง พอล ภัทรพล ซึ่งประสบความสำเร็จด้านธุรกิจและการเงิน กลายเป็นผู้มีอิสรภาพทางการเงิน เจ้าตัวได้วิเคราะห์เรื่องธุรกิจและการเงินของโลกเราหลังจากนี้ ผ่านรายการ Money Matters ทางช่องยูทูบ
โดยเจ้าตัวบอกว่า ไม่มีใครรู้ว่าCOVID 19จะจบลงเมื่อไร แต่ที่หลายคนกังวลมากกว่าการจบลงคือ หลังจบลงแล้ว โลกของเราจะเป็นอย่างไร ส่วนตนมองว่าจะเกิด New Normal ความปกติในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทั้งผลดีและไม่ดี ตนวิเคราะห์ได้ดังนี้...
1. Deglobalization ซึ่ง Globalization แปลว่า โลกาภิวัฒน์ ดังนั้น Deglobalization จะตรงกันข้ามคือ ลดความโลกาภิวัฒน์ สวนกระแส เพราะโควิด 19ทำให้ธุรกิจปั่นป่วนไปหมด แต่ละประเทศชัตดาวน์ ทำให้บริษัทผลิตต่าง ๆ ที่เคยรับวัตถุดิบจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เพราะปิดประเทศกันหมด ดังนั้น บริษัทจะเริ่มคิดแล้วว่าต้องใช้ของในประเทศ พึ่งพาตลาดส่งออกไม่ได้ ก็ต้องหันมาพัฒนาตลาดในประเทศ อย่างประเทศไทย ที่ส่งออกสินค้าเยอะมาก แต่ตอนนี้ส่งออกไปไหนไม่ได้เลย จะขายในไทยก็ไม่มีตลาดรองรับ จากนี้คนจะเริ่มกลับมาโฟกัสที่ตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศกันอยู่
2. สังคมเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้น ทุกวิกฤตจะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ อย่างปี 2545 ที่โรคซาร์สระบาดในประเทศจีน ทำให้คนหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น จึงเกิดเป็น Alibaba.com หรือ JD.com จนเติบโตอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดในประเทศไทยเหมือนกัน เพราะคนชินแล้วที่อยู่บ้านแล้วสั่งของออนไลน์ ความเคยชินนี้จะทำให้คนไม่ค่อยออกจากบ้าน คนเดินห้างน้อยลง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังไม่ใช่ของคนไทย ซึ่งเราก็เก็บภาษีตรงนี้ไม่ได้ ทั้งที่เม็ดเงินมหาศาล "เราเหมือนเป็นเมืองขึ้นด้าน E-commerce" การที่เราจะสร้างเองไปสู้มันก็ยาก ฉะนั้นที่ทำได้คือ เราต้องร่วมมือกับเขา ทำยังไงให้ภาษีตกอยู่ในบ้านเรา
ภาพจาก Paul Pattarapon พอล ภัทรพล
3. คนจะดูแลสุขภาพมากขึ้น คนจะตระหนักและเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองมากขึ้น ดูแลสุขภาพไม่ให้ตัวเองเป็นโรคอะไรเลย เพราะเมื่อเกิดCOVID-19คนที่มีโรคประจำตัวจะยิ่งเสี่ยง และมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี
4. คนจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเมื่อมีCOVID 19ประเทศถูกชัตดาวน์ กลายเป็นว่าธรรมชาติทุกอย่างดีขึ้นหมดเลย เช่น ประเทศอินเดีย เขาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ด้วยตาเปล่า เพราะเมื่อก่อนมีแต่ฝุ่นมลพิษบดบัง และที่ธรรมชาติดีขึ้นไม่ใช่เพราะโควิด 19 แต่เป็นเพราะว่าคนเราไม่ไปทำลายมัน
5. รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป เพราะช่วงนี้หลายบริษัทให้ทำงานแบบ Work from Home บางองค์กรอาจจะยึดแบบนี้ไปเลย จากเดิมเข้าออฟฟิศ 5 วัน อาจให้เข้าแค่ 2 วันก็พอ ขอให้ผลการทำงานดี ยอดขายไม่ตก ทำทุกอย่างได้เหมือนออฟฟิศ ซึ่งจะส่งผลกระทบวงกว้างมากและหลายด้านมาก ๆ เช่น ถ้าต้องเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละครั้ง อาจไม่ต้องซื้อรถยนต์ ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ และไม่ต้องซื้อประกันภัยต่าง ๆ ก็กระทบไปอีก รวมถึงคุณอาจไม่ต้องไปหาคอนโดที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ อาจอยู่บ้านชานเมืองก็ได้ ซึ่งก็กระทบอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปอีก เช่นเดียวกับร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ที่ทำงานก็จะยอดขายตก
ภาพจาก Paul Pattarapon พอล ภัทรพล
ต่อไปทุกองค์กรอาจพยายามทำตัวเองให้ปลอดหนี้ เพราะเมื่อทุกอย่างมันหยุดชะงัก มันทำให้องค์กรไปต่อไม่ได้ อาจมีการใช้คนน้อยลง คนอาจตกงานมากขึ้น บริษัทไม่ต้องการพื้นที่ใหญ่ ๆ แค่มีห้องเล็ก ๆ ไว้เจอกันสัปดาห์ละครั้งก็พอ
อย่างไรก็ตาม แม้ทุกอย่างจะกลับมา กิจการเปิดเหมือนเดิม แต่คนอาจไม่กล้าเข้าใช้บริการเหมือนเดิม เช่น ร้านนวด โรงหนัง เครื่องบิน ร้านอาหาร อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นที่ตนวิเคราะห์ว่าอาจเป็นในทิศทางนี้
ข้อมูลจาก : https://covid-19.kapook.com/view225643.html
Comments