top of page
ค้นหา
  • supattra24051988

ตำรวจพร้อม ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ - รถฉีดน้ำแรงดันสูง รอรับม็อบบุกรัฐสภาวันโหวตนายกฯ

ตำรวจเตรียมพร้อม ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ 40 ตู้ รถฉีดน้ำแรงดันสูง ปิดถนนรอบรัฐสภาเตรียมรับมือม็อบโหวตนายกรัฐมนตรี คาดมี 14 กลุ่มร่วมชุมนุม ส่วน กทม. จัดพื้นที่ชุมนุม รับได้ 200 คน



วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นวันหนึ่งของประเทศไทยที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดย ส.ส. และ ส.ว. โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตที่มีลุ้นกับตำแหน่งนี้


ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองก็ถือว่าน่าตึงเครียดไม่น้อย เพราะมี ส.ว. ออกมาประกาศผ่านสื่อว่า จะไม่โหวตให้นายพิธา ทำให้ยังคงต้องลุ้นกันต่อว่า นายพิธาจะได้คะแนนเสียงถึง 375 เสียงหรือไม่ รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องคดีหุ้นไอทีวีและนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้เมื่อวานนี้มีแฟลชม็อบออกมาต่อต้าน มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเพื่อหาทางสกัดนายพิธา



ส่วนในวันนี้ เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถบรรทุกน้ำ 2 คัน, รถฉีดน้ำแรงดัน 2 คัน พร้อมกับรถเครื่องขยายเสียงอีก 1 คัน เข้าประจำการภายในอาคารรัฐสภา รวมถึงนำแผงเหล็กยึดติดกันตามแนวถนนทหาร เพื่อตั้งเป็นรั้วรอบอาคารชั้นหนึ่ง


อีกชั้นหนึ่ง มีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ 40 ตู้ มากั้นทางเข้า-ออกอีกแนวฝั่งถนนทหารไปจนถึงแยกเกียกกาย เพราะคาดว่า วันนี้จะมีประชาชนมารวมตัวชุมนุมกดดัน ส.ว. ให้โหวตนายพิธาจำนวนมาก



อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการจัดบริเวณพื้นถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เกียกกาย (ฝั่งสนามเด็กเล่น) ไว้รองรับผู้ชุมนุม คาดว่าจะรองรับได้ 200 คน แต่ถ้าคนมาเกินกว่าปริมาณจะรับได้ ตำรวจจะปรับพื้นที่ให้ตามความเหมาะสม


ไทยพีบีเอส รายงานว่า กลุ่มที่จะมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มีถึง 14 กลุ่ม คาดว่าน่าจะรวมตัวตั้งแต่ช่วงสายจนถึงช่วงเย็น ทางตำรวจจึงวางกำลังป้องกันเอาไว้ ส่วนประชาชนที่อาศัยในชุมชนวัดแก้วฟ้า เขตถนนทหาร ยังสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ


สำหรับเส้นทางที่ปิดไม่ให้ประชาชนเข้า จะมี 3 จุด 3 เส้นทางที่มุ่งสู่รัฐสภา ได้แก่ แยกบางกระบือ, แยกบางโพ และถนนทหาร ส่วนเส้นทางที่ใช้ได้ จะเป็นรูปตัว U อ้อมรอบนอกของจุดที่ปิดเอาไว้



ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี


- ส.ส. ทั้ง 500 คนมีสิทธิ์เสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้คนละ 1 ชื่อ แต่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อจะต้องอยู่ในพรรคการเมืองที่มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป เมื่อเสนอชื่อแล้ว จะต้องมี ส.ส. รับรองอย่างน้อย 50 คน


- สำหรับ 9 คนที่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นางสาวแพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน, นายชัยเกษม นิติสิริ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ


ภาพจาก ไทยพีบีเอส


2. การอภิปราย แสดงวิสัยทัศน์


- สมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายซักถามผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้อย่างเต็มที่ หรือขอมติที่ประชุมให้ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์


3. การลงคะแนน


- เป็นการลงมติอย่างเปิดเผย ด้วยการเรียกชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับตัวอักษรเป็นรายบุคคล โดยสามารถลงคะแนนได้ 3 อย่าง คือ เห็นชอบ, ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง


- คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องมีเสียงโหวตครึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือไม่น้อยกว่า 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง



4. ผลโหวต


- กรณีโหวตผ่าน หลังจากนี้ประธานสภาจะนำชื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป


- กรณีโหวตไม่ผ่าน จะมีการโหวตต่อไปในวันที่ 19 กรกฎาคม หรือถ้าไม่ผ่านก็จะโหวตอีกครั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม ถ้ายังไม่ผ่าน ก็จะมีการเจรจาระหว่างพรรคร่วมต่อไป



ภาพจาก ไทยพีบีเอส


ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page